ประวัติศาสตร์ นิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำอิง

ดร.สหัทยา วิเศษ


TAWU0668          สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวถึงดินแดนที่เรียกว่าโยนก ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นถิ่นกำเนิดของพวกญวน อยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ตามหุบเขามีแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านได้แก่ แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำลาว ไหลลงสู่น้ำโขง

          ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม กล่าวว่าจากตำนานความเป็นมาของแม่น้ำอิงนั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ไหลออกจากกว๊านพะเยาตอนปลายสุดของดอยด้วน วกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านที่ราบลุ่ม ๒ ฝั่งน้ำที่มีลำห้วยหลายสายจากซอกเขาดอยด้วน เช่น ลำน้ำแม่เหลือง หรือห้วยร่องปอที่ไหลมาจากดอยหม้อ และดอยลักล้านที่ไหลมาสมทบกับน้ำร่องช้างที่ไหลมาจากดอยภูนาง ผ่านบ้านดอกคำใต้มาสมทบกันที่บ้านแม่อิง อันเป็นบริเวณที่พญางำเมือง พญามังราย และพญาร่วงนั่งอิงกันในพิธีสาบานความเป็นมิตรระหว่างกันแม่น้ำอิงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “แม่น้ำสายตา”

          จากบ้านแม่อิง แม่น้ำไหลผ่านที่ราบลุ่มระหว่างดอยด้วนกับดอยแม่นะ และดอยกิ่วแก้วในเขตอำเภอดอกคำใต้ ขึ้นทางเหนือไปออกช่องเขาอันเป็นรอยต่อระหว่างดอยกิ่วแก้ว และดอยจิกจ้องเข้าสู่ที่ราบลุ่มของอีกหุบเขาหนึ่งในอำเภอจุน มีลำน้ำจุนไหลมารวม ณ บริเวณที่ตั้งของเวียงลอ อันเป็นเมืองสำคัญรองลงมาจากเมืองพะเยาของลุ่มน้ำอิง บริเวณที่ราบระหว่างเขาอันเป็นที่ตั้งของเวียงลอ มีความยาวตั้งแต่เขตอำเภอจุนไปจนถึงอำเภอเทิง เป็นที่ตั้งของเมืองเชียงคำ เมืองเทิง ก่อนที่แม่น้ำอิงจะไหลขึ้นไปทางเหนือไปออกแม่น้ำโขงในเขตเมืองเชียงของ อันเป็นเมืองปลายสุดของลุ่มน้ำอิง
          พื้นที่ราบลุ่มและเหมืองฝายเป็นแหล่งที่เกิดบ้านเมือง และชุมชนสมัยล้านนา และสมัยหลังๆลงมา แต่ชุมชนลัวะในวัฒนธรรมหินตั้งนั้น มีอยู่ในหุบเขาของเทือกเขาดอยด้วนที่มีน้ำร่องปอไหลมาจากดอยสักล้านทางเหนือ ตามเนินเขา และกิ่วเขาของดอยด้วนนี้ พบร่องรอยของเครื่องมือหิน หินแกะสลัก และการตัดหิน การทำครกหินหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณกิ่วหม้อต้อมซึ่งมีเป็นทางผ่านลำน้ำร่องปอ ผ่านช่องเขาไปตามลำห้วยร่องเอนไปยังบ้านเอน ชุมชนโบราณที่พบเครื่องมือหิน หินแกะสลักและพระพุทธรูปหินทราย

JUNI1239          บริเวณลุ่มน้ำอิงจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนใต้ของจังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำอิงเป็นแม่น้ำสายหลักมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านที่ราบเขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา แล้วไหลลงสู่กว๊านพะเยา (หนองเอี้ยง) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รอบๆกว๊านพะเยาเป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลลงมาสู่พื้นที่เพาะปลูก

          ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกว๊านพะเยาเป็นเนินสูงลาดลงมาจากเทือกเขาเหมาะสำหรับก่อบ้านสร้างเมือง เพราะน้ำท่วมไม่ถึงและเป็นชัยภูมิที่ป้องกันข้าศึกได้ดี จึงพบซากชุมชนและเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น เวียงพะเยา เวียงปู่ล่าม เวียงแก้ว เวียงต๋อม เป็นต้น ด้านตะวันออกของกว๊านเป็นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา พบซากเวียงลอ อยู่ในเขตอำเภอจุน จังหวัดพะเยา เมืองนี้เป็นเมืองโบราณที่มีแม่น้ำอิงไหลผ่านกลางเมือง มีสถูปก่อด้วยอิฐ และพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามากมาย

          ต่อจากนั้นแม่น้ำอิงไหลขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย บริเวณนี้มีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีเวียงเทิงตั้งอยู่อยู่ริมพระธาตุจอมจ้อ ทางด้านตะวันตกมีพระธาตุจอมซิ่น ซึ่งเป็นสถูปเก่าแก่ บริเวณนี้มีน้ำแม่อิงและแม่น้ำอีกหลายสาขาที่ไหลมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันออกที่กั้นเขตชายแดนไทย-ลาว มีชุมชนโบราณอีกแห่งหนนึ่งคือ เวียงเชียงคำ จะอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ ที่มีแม่น้ำลาวเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิงไหลผ่าน จากเทือกเขาด้านใต้ไปลงแม่น้ำอิงบริเวณใกล้กับเมืองเทิง

          จากอำเภอเทิง แม่น้ำอิงไหลขึ้นไปทางเหนือเป็นที่ราบลุ่มในหุบเขาที่แม่น้ำอิงไหลผ่านลงไปออกแม่น้ำโขงในเขตบ้านปากอิง เหนือบริเวณปากอิงไปตามแม่น้ำโขง ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเชียงของ เป็นชุมชนรุปกลมรี มีคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบ ตั้งอยู่บนเชิงริมแม่น้ำโขง เมืองเชียงของเป็นเมืองปลายสุดของลุ่มน้ำอิง มีวัดบางแห่งมีพระพุทธรูปหินทรายแบบเดียวกับพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา

 

Go to top